วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

กว่าจะมาเป็นหนังสือ โดย อาจารย์วิริยะ สิริสิงห์


“กว่าจะมาเป็นหนังสือ” โดย อาจารย์วิริยะ สิริสิงห์ อ.วิริยะ : สวัสดี ตอนบ่ายครับ มีหลายท่านคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอยู่ ผมกลัวว่าจะเอามะพร้าวห้าวมาขายสวน ผมอยู่ในวงการหนังสือมา 38 ปี น้อยกว่าอาจารย์วิสิทธิ์ 1 ปี เคยทำที่บริษัทไทยวัฒนาพานิชมาทั้งหมด 16 ปี แล้วทำหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 3 ปี สำนักพิมพ์ของผมมีอายุ30 ปีแล้ว แต่ผมกว่าผมจะเก็บเกี่ยวผลประโยชน์ได้ ก็เมื่อสำนักพิมพ์ย่างเข้าปีที่ 25 เพราะฉะนั้นทุกท่านที่ต้องการเปิดสำนักพิมพ์ใหม่ ต้อง เข้าใจว่าถ้าท่านเปิดสำนักพิมพ์ จะคาดหวังไม่ได้ว่าจะได้กำไรภายในระยะเวลาสั้นๆ เนื่องจากการทำสำนักพิมพ์เปรียบเสมือนการปลูกต้นไม้ใหญ่ กว่าจะให้ดอกผล ใช้ระยะเวลานาน แต่เมื่อออกดอกผลแล้ว ท่านสามารถเก็บดอกผลนั้นกินไปได้จนตาย สำหรับ วงการหนังสือในบ้านเรา ยังต้องมีการพัฒนา เติบโตต่อไปอีก ดังนั้น จึงยังมีช่องว่างให้ทุกท่าน ที่ต้องการเข้ามาอยู่ในวงการนี้ วันนี้ ผมจะมาพูดถึงหนังสือที่มียอดขายน้อยมากในประเทศไทย นั่นก็คือ หนังสือส่งเสริมการอ่าน หรือ “Book” ซึ่งทุกๆปีเราจะมีงบที่ได้จากทางรัฐบาล เพื่อ ซื้อไปแจกโรงเรียนรัฐบาลต่างๆประมาณ 700 ล้านบาท อีกทั้งในปีนี้ น้ำท่วมกว่า 40 จังหวัดทั่วประเทศ ทำให้ห้องสมุดของโรงเรียนต้องมีการปรับปรุงใหม่ ปีนี้ต้องใช้งบประมาณถึง 2 เท่าในการซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด ผมได้ข่าวมาด้วยว่าในปีนี้รัฐบาลจะให้งบประมาณถึง 3 เท่าในการฟื้นฟูห้องสมุด เป็นข่าวดีหรือข่าวร้ายก็ไม่ทราบ (ฮา) เรื่องที่ผมได้รับมอบหมายให้มาพูดในวันนี้คือ “กว่าจะมาเป็นหนังสือ” หนังสือเล่มหนึ่งๆ กว่าจะออกมาสู่สายตาประชาชนได้ ต้องมีกระบวนการอย่างไร มีเทคนิคอะไรบ้าง Outline คร่าวๆในการผลิตหนังสือออกมาแต่ละเล่มมีดังนี้
  1. กระบวนการก่อนพิมพ์
  2. กระบวนการพิมพ์
  3. กระบวนการหลังพิมพ์

ซึ่งผู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการเหล่านี้ ได้แก่ นายทุน บรรณาธิการ และผู้จัดจำหน่าย ถ้าทั้ง 3 คนนี้ไม่ประสานงานกัน หนังสือ ที่เราทำก็จะไม่ประสบผลสำเร็จ ถ้าจะถามว่าใน 3 ส่วนนี้ ส่วนใดสำคัญที่สุด สมัยหนุ่มๆผมจะตอบว่าบรรณาธิการ แต่สมัยนี้ผมจะตอบว่านายทุน และสำหรับผมจะขอพูดถึงบรรณาธิการเป็นหลัก จากประสบการณ์แล้ว ผมอยากจะแนะนำคนรุ่นใหม่ว่า ถ้าตัวเราที่เป็นเจ้าของกิจการ เป็นบรรณาธิการเองไม่ได้ เราควรจะจ้างบรรณาธิการที่มีคุณสมบัติดังนี้
  1. มีมนุษยสัมพันธ์ดี สามารถประสานงานติดต่อกับนักเขียน นักวาดรูป โรงพิมพ์ และผู้จัดจำหน่ายได้ดี
  2. เป็นนักเขียนด้วย สามารถแก้จุดบกพร่องของต้นฉบับได้ จัดระเบียบคำให้มีความถูกต้องตามหลักภาษา แต่บรรณาธิการไม่จำเป็นต้องเป็นนักเขียนที่มีชื่อเสียงมาก เพราะค่าตัวแพง เลือกคนที่พอจะเขียนเป็น
  3. มีบุคลิกภาพที่ดีพอสมควร อย่าจ้างคนที่ขี้เหร่ที่สุดมาเป็นบรรณาธิการ ผมจะเล่าประสบการณ์ที่ได้พบมาเรื่องหนึ่ง ผมเคยรับพนักงานบางคนมาเป็นบรรณาธิการด้วยความสงสาร เขามีตาที่โปน ฟันเหยิน แก้มตอบ ผม หยิก วันหนึ่งผมบอกให้เขาช่วยขายหนังสือเพราะคนขายไม่อยู่ เขาก็นั่งก้มหน้าตลอดเวลา พอคนซื้อเข้าร้าน เขาเงยหน้าขึ้นมาคนซื้อก็ตกใจ (ฮา)
  4. มีสุขภาพดี ถ้าเจ็บป่วยบ่อย งานที่ออกมาก็จะเป็นโรคเหมือนคนเจ็บป่วย
บรรณาธิการ ไม่จำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญในด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะ แต่ต้องเป็นคนที่รู้กว้างเพราะต้องติดต่อกับคนหลายประเภท สำหรับเรื่องที่ต้องทราบข้อมูลโดยเชิงลึก หรือโดยละเอียด เราสามารถจ้างนักวิชาการเฉพาะด้านได้ หน้าที่หลักของบรรณาธิการคือ ประสานงานกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ บรรณาธิการเป็นผู้ที่กำหนดแผนงาน และนโยบายของสำนักพิมพ์ร่วมกับนายทุน การกำหนดแผนงานคือกำหนดว่าจะทำหนังสือแนวใด ออกเมื่อไร ให้ใครทำ โดยยึดจุดประสงค์ของสำนักพิมพ์เป็นหลัก ทำให้สามารถผลิตหนังสือออกมาตามแนวที่สำนักพิมพ์วางไว้ได้ เมื่อเกิดความผิดพลาด เราก็สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที ดีกว่าการออกหนังสือสะเปะสะปะ นึกอยากจะออกก็ออก พอเงินทุนไม่เพียงพอก็ต้องไปกู้เขา ไม่มีแผนงานที่แน่นอน งานก็ล้มเหลว นอกจากนั้น ก่อนที่เราจะผลิตหนังสือ เราจำเป็นต้องรู้จักผู้อ่านก่อน ซึ่งแบ่งได้ 6 กลุ่ม ดังนี้
  1. กลุ่มอายุ 2-7 ปี วัยก่อนอนุบาล ในประเทศไทยมีประชากรวัยนี้เป็นล้านคน เด็กวัยนี้ชอบกินและเล่นเป็นนิสัย แต่คนทำหนังสือชอบผลิตหนังสือที่สอนให้เด็กมีความขยันหมั่นเพียร เป็นเด็กดี เด็กไทยจึงไม่รัก การอ่าน นอก จากนั้น ในประเทศไทย หนังสือสำหรับเด็กไม่ค่อยมีประเภทที่กระตุ้นจินตนาการของเด็ก อาทิเช่น พ่อมด แม่มด เพราะคนทำหนังสือทราบว่าผู้ปกครองไม่ซื้อหนังสือประเภทนี้ให้เด็ก ในทางตรงกันข้าม ผู้ปกครองต้องการซื้อหนังสือประเภทที่สอนให้เด็กรู้จักมัธยัสถ์ ซึ่ง นักจิตวิทยาได้ทำการวิจัยออกมาว่า ถ้าคนทำหนังสือสามารถทำหนังสือสำหรับเด็ก ที่มีเนื้อหาที่ทั้งผู้ใหญ่และเด็กต้องการร่วมกัน จะขายหนังสือประเภทนี้ได้ แต่ผมไม่ได้หมายความว่าจะขายดีนะครับ เนื่องจากหนังสือที่ขายดีต้องขึ้นอยู่กับเรื่องการตลาด ผมคงไม่สามารถไปชี้แนะได้
  2. กลุ่มอายุ 7-10 ปี วัยอนุบาล เป็นวัยที่ชอบรางวัล ทำดีต้องได้ดี ผมเคยเป็นครูที่สอนนักเรียน ตั้งแต่ ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับอุดมศึกษา อีกทั้งเคยสอนพระ เณรด้วย เวลาเด็กทำการบ้านมาส่ง ถ้าครูชมว่าดีหรือเก่ง เด็กจะไม่ค่อยอยากรับคำชม ผม จึงใช้จิตวิทยา เปลี่ยนจากการให้คำชม เป็นให้กระดาษรูปดาวติดไว้ ที่ปกสมุดของเด็ก เด็กชอบเพราะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่นเดียวกับการอ่านหนังสือของเด็กวัยนี้ ถ้าเนื้อเรื่องใน ตอนจบ พระเอกและนางเอกประสบความสำเร็จ มีชัย ไม่ตาย จบแบบ Happy Ending เด็กจะอ่านเรื่องนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะเขาจะนำตนเองไปเปรียบว่า กำลังแสดงเป็นพระเอก หรือนางเอกของเรื่องนั้นๆ
  3. กลุ่มอายุ10-13 ปี วัยประถม ชอบสังคม รักสนุก ชอบเรื่องราวคนเด่น คนดัง เนื้อหาที่เด็กกลุ่มนี้อ่านต้องไม่ยาวมาก คือ ประมาณ 3-4 หน้า
  4. กลุ่มอายุ 13-16 ปี วัยมัธยม รักอุดมคติ ชอบเสียสละเพื่อส่วนรวม รักหมู่คณะ ชอบเป็นฮีโร่ ถ้าเพื่อนไปยกพวกตีที่ไหน ก็จะตามไปเป็นกลุ่ม หนังสือที่มีเนื้อหาปลุกใจ พวกฮีโร่ต่างๆ เหมาะกับเด็กวัยนี้
  5. กลุ่มอายุ 16-25 ปี วัยอุดมศึกษา เป็นวัยที่ชอบรอความหวัง ฝันเฟื่อง วาดวิมานในอากาศ ประชากร วัยนี้มีประมาณ 40% ของประชากรทั่วโลก ถ้าท่านทำหนังสือสำหรับวัยนี้ได้ประสบความสำเร็จ ท่านจะรวย นักเขียนชาวต่างชาติที่รวยติดอันดับมหาเศรษฐีก็เขียนเรื่องแนว Romance “ทมยันตี” ราชินีนักเขียนของเมืองไทยก็ดังจากการเขียนเรื่องแนว Romance มีแฟนติดตามผลงานเยอะมาก ถ้าวัยกลางคนมาอ่านหนังสือแนวนี้ จะขนลุก เพราะพระเอกในนิยายแนวนี้จะเป็นคน idiot ซึ่ง เป็นสิ่งที่ทำให้นิยายสนุก ตัวอย่างเช่น พระเอกขับรถเฉี่ยวนางเอก จนทำให้นางเอกกระเด็นไปหลายตลบ พระเอกก็เป็นสุภาพบุรุษ ต้องเปิดประตูรถไปอุ้มนางเอกมาขึ้นรถ แต่แทนที่จะอุ้มไปส่งโรงพยาบาล กลับพาไปบ้านตัวเอง ทุกเรื่องจะเป็นเช่นนี้ แล้วพอไปถึงที่บ้าน จะมีคู่หมั้นพระเอกที่เป็นตัวร้าย อิจฉาริษยานางเอก และที่บ้านพระเอกต้องมีคนรับใช้แก่ๆเป็นคนที่คอยเข้าข้างนางเอก
    ผมอยากบอกว่า ถ้า คุณจะเลือกนิยายมาพิมพ์เป็นหนังสือ อย่าเลือกเรื่องที่มันสุดโต่งไปทางเดียว ถ้านางเอกไปอยู่บ้านพระเอก แล้วไม่มีคนที่คอยเข้าข้างเลย มันจะบีบคั้นคนอ่านมากเกินไป ต้องหาคนแก่สักคนมาช่วยออกรับข้อกล่าวหาแทนบ้าง
  6. กลุ่มอายุ 25 ปีขึ้นไป วัยกลางคน ต้องอ่านหนังสือแนวธรรมะ ปรัชญา สารคดีที่มีเหตุผล ผมเคยเจอนักอ่านที่มีอายุในช่วงวัยนี้ เขากำลังนั่งอ่านนิยายของนักเขียนนิยายท่านหนึ่ง ผู้เขียนบรรยายว่าขับรถจากกรุงเทพฯไปโคราช ใช้เวลา 2 ชั่วโมง นักอ่านคนนั้นก็จริงจังมาก เอาแผนที่ขึ้นมากางว่าขับรถ 2 ชั่วโมงจะไปถึงโคราชได้จริงเหรอ ถ้าอ่านนิยายแล้วมาคอยคิดว่ามันเป็นไปได้จริงหรือเปล่า จะทำให้อ่านนิยายเรื่องนั้นไม่สนุก มันต้องปล่อยวางกันบ้าง
บรรณาธิการมีหน้าที่ต่างๆ ได้แก่
  1. วางแผนทำหนังสือ โดยวางแผนร่วมกับนายทุน ไม่ว่าจะนายทุนกลุ่มใดก็ตาม ก็รวยทั้งนั้น เพียงแต่ว่าขอให้ทำให้จริงจังและถูกต้อง การวางแผนมี 2 ลักษณะ
    • วางแผนระยะสั้น คือ ทำหนังสือเพียง 2-3 เล่ม ภายในไม่กี่เดือน
    • วางแผนระยะยาว คือ ทำหนังสือทั้งปี วางแผนว่า ปีนี้เราจะทำอะไร อย่างไรบ้าง หนังสือมีประเภทใดบ้าง เช่น หนังสือแปล หนังสือภาพ หนังสือสอนภาษา เป็นต้น

  2. การวางแผนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าไม่วางแผน จะทำให้เราเดินไม่ตรงทาง เฉไปเฉมา กว่าจะเข้าทางก็เสียเวลาไปมากแล้ว ตอนที่ผมเปิดสำนักพิมพ์ใหม่ๆ ผมก็ทำงานแบบเฉไปเฉมาเหมือนกัน เนื่องจากไม่มีอาจารย์คอยสอน

  3. มีความสามารถรอบด้าน ไม่ใช่ทำแต่หน้าที่หาต้นฉบับอย่างเดียว ต้องมีความรอบรู้ในทุกเรื่อง ทุกกระบวนการผลิตหนังสือ ตั้งแต่การทำเพลต (แม่พิมพ์) การเลือกกระดาษ ไปจนถึงการจัดจำหน่าย ถ้าไม่มีความรู้เหล่านี้ ก็ต้องหาความรู้มาใส่ตัวให้ได้ ถ้าเราเป็นบรรณาธิการ แต่ไม่ทราบว่าเวลาพิมพ์หนังสือต้องใช้กระดาษกี่รีม คงจะน่าอาย เราต้องเรียนรู้ให้ได้ มันไม่ได้ยากเกินความสามารถนัก ส่วนเรื่องการจัดจำหน่าย จำเป็นมาก เนื่องจากเมื่อเราต้องไปติดต่อประสานงานกับผู้จัดจำหน่าย จะได้มีข้อมูลไปพูดโต้แย้ง ต่อรองกันได้
ที่สำคัญ การทำหนังสือ เราต้องให้ใจในการทำด้วย สำหรับ มาตรฐานของขนาดหนังสือ เมื่อปีที่แล้ว ผมได้ไปเป็นกรรมการ “กำหนดมาตรฐานหนังสือของประเทศไทย”กับสภาอุตสาหกรรม มีกรรมการทั้งหมด 5 ท่าน มาจากสำนักพิมพ์ 3 ท่าน และ มาจากสภาอุตสาหกรรม 2 ท่าน จุดประสงค์ของการกำหนดมาตรฐานหนังสือ เนื่องจากทางประเทศที่เป็นสมาชิกด้วยกัน ส่ง จดหมายมาบอกว่าเราน่าจะกำหนดหนังสือให้เป็นมาตรฐานสากลทั่วโลก ประเทศอื่นๆเขามีกันหมดแล้วยกเว้นประเทศไทย ที่พิมพ์หนังสือขนาดสะเปะสะปะ ดังนั้น กรรมการทุกคนจึงร่วมกันกำหนดว่าขนาดมาตรฐานของหนังสือที่เราจะสามารถซื้อเข้าห้องสมุดได้ คือ 8 หน้ายกพิเศษ (ขนาด A4 ) หรือ 16 หน้ายกพิเศษ แต่พอร่างกฎหมายออกมาเรียบร้อย ก็ไม่กล้าประกาศใช้กัน เพราะกรรมการเชื่อกันว่าคงไม่ได้ผล เนื่องจากบ้านเรามีแท่นพิมพ์ขนาด A3 และ A4 เยอะมาก การทำหนังสือเข้าห้องสมุด ควรทำขนาดมาตรฐาน หรือ A4 เนื่องจากทั่วโลกใช้ขนาดนี้กันทั้งหมด ประเทศไทยเราก็ควรทำตู้ใส่หนังสือขนาด A4 เตรียมไว้ก่อนในห้องสมุด แต่ในปัจจุบันขนาด A4 ในบ้านเราก็เยอะมากแล้ว ไม่นานคงมีการประกาศใช้ร่างกฎหมายฉบับนี้ สำหรับประเทศไทยเรา มีขนาดหนังสือหลักๆ คือ A5 และ A4 บรรณาธิการและฝ่ายศิลป์ก็ไปตกลงกันว่าเวลาวางขายจะทำยังไงให้มันสะดุดตา หนังสือที่พบได้ในบ้านเรามี 4 ขนาด
  1. 8 หน้ายกพิเศษ
  2. 16 หน้ายกพิเศษ
  3. 8 หน้ายกธรรมดา
  4. 16 หน้ายกธรรมดา
บรรณาธิการและฝ่ายศิลป์ต้องตกลงกันให้ได้ว่า เรื่องที่เรามีอยู่ควรจะทำขนาดใด ถ้าเป็นหนังสือสำหรับเด็กที่มีรูปเยอะๆ
ควรจะทำขนาดใหญ่ เพราะเด็กจะได้เห็นรูปได้ง่าย แต่ถ้าทำขนาดเล็กและหนา จะทำให้เปิดดูได้ไม่ทั่วถึง เพราะรูปจะไปติดตรงสันหนังสือ แต่สิ่งนี้ก็ไม่ใช่ข้อกำหนดตายตัวว่าหนังสือเด็กต้องทำเล่มใหญ่ และหนังสือผู้ใหญ่ต้องทำเล่มเล็ก สิ่งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละสำนักพิมพ์ และนายทุน เนื่องจากนายทุนเป็นผู้ที่มีอิทธิพลมาก สามารถเปลี่ยนสิ่งที่เราทำไว้ดีๆ ให้กลายเป็นเลวได้ตามความต้องการของเขา เมื่อก่อนตอนที่ผมทำงานอยู่ที่ไทยวัฒนาพานิช (ทำหนังสือไชยพฤกษ์) ในฐานะที่เป็นลูกจ้าง ก็อยากได้เงินเดือนขึ้น เลยต้องขยันวิ่งเข้าหานายบ่อยๆ มีอยู่วันหนึ่งคิดไม่ออกว่าจะเอาเรื่องอะไรไปพูด จึงเอาปกวารสารเล่มหนึ่งที่ได้ทำไว้ไปให้ดู ผมก็ถามว่านายชอบมั้ย เขาบอกว่าไม่ชอบ ชอบสีชมพู ผมเลยเปลี่ยนตามใจนาย ปรากฏว่าขายไม่ออก แต่การทำงานที่นี่มา 16 ปี ทำให้ผมได้ข้อคิดมาอย่างหนึ่งคือ คุณต้องสนองความต้องการของผู้อ่านเป็นหลัก อย่าเอาใจตัวเองเป็นใหญ่
เมื่อพูดถึงเรื่องสี ผมจะขอเข้าเรื่อง อิทธิพลของสี หนังสือ บางเล่ม ทำไมเราไปดูตามท้องตลาดแล้วของเขาจึงขายดี แต่ของเราขายไม่ออก มันมีองค์ประกอบย่อยอื่นๆก็มีอิทธิพล เราจึงต้องใส่ใจนอกจากเนื้อหาด้วย เช่น สีที่เราใช้บนหน้าปก ถ้า เป็นนิยาย หรือ บันเทิง ต้องใช้สีที่ตัดกัน จะทำให้เรื่องเด่นชัดขึ้นมา ถ้าเป็นนิทานหรือหนังสือเด็ก หนังสือพาฝัน ให้ใช้สีที่หวาน นุ่ม ตามหลักทฤษฎีของฝรั่ง สีนุ่มและสีตัดกันเราจะดูอย่างไร ผมทำเป็นวงกลมไว้ให้ตามรูปนี้



ถ้าต้องการสีหวาน นุ่ม ต้องใช้สีตามเข็มนาฬิกา ถ้าต้องการสีร้อน ต้องใช้สีทวนเข็มนาฬิกา อย่างเช่น การทำหนังสือเด็ก ปกมีตัวอักษรสีแดง ถ้าต้องการให้สีออกมาหวานนุ่ม ต้องใช้พื้นสีม่วง ถ้าใช้สีแดงกับส้มจะออกมาเป็นสีร้อน เหมาะกับวัยรุ่น

ส่วนเรื่อง แบบตัวอักษร บรรณาธิการต้องสังเกตด้วยว่ากลุ่มเป้าหมายคือบุคคลวัยใด การทำหนังสือสำหรับเด็กและคนชรา ต้องใช้ตัวอักษรแบบมีหัวเท่านั้น การพิมพ์สีพื้นแล้วนำตัวอักษรจำนวนไม่กี่ตัวไปพิมพ์ทับบนสีพื้น วัยรุ่นจะชอบ เพราะการพิมพ์ลักษณะนี้จะทำให้อ่านยาก ซึ่งโดยธรรมชาติของวัยรุ่นจะไม่ชอบอ่านตัวหนังสือมากนัก ชอบอ่านอะไรสั้นๆ และชอบมองสีสันมากกว่า ตรงกันข้ามกับพ่อแม่ และคุณครูที่ต้องอ่านตัวหนังสือทุกตัว เพราะคนวัยนี้จะชอบคำนวณว่าตัวหนังสือตัวละกี่บาท นอกจากนั้น บรรณาธิการต้องรู้ว่าหนังสือควรจะเข้าเล่มแบบไหน เนื่องจากสิ่งเหล่านี้จะไปเกี่ยวข้องกับการกำหนดราคาหนังสือด้วย

โดยในปัจจุบันการเข้าเล่มหนังสือมี 5 แบบ

  1. เย็บลวด ส่วน ใหญ่เย็บด้วยลวด 2 ตัว ( ลวดตัวละ 20 สตางค์) ใช้กับหนังสือที่เล่มไม่หนานัก สำหรับหนังสือที่ออกเร็ว ขาดเร็ว ใช้เร็ว เช่น วารสาร
  2. เย็บสัน ปัจจุบันในบ้านเรานิยมใช้ในห้องสมุด เพราะเด็กอ่านแล้วปกฉีกขาดบ่อย โดยใช้ลวดตัวเย็บตรงสัน หรือใช้สว่านเจาะเป็นรู เพื่อใช้เชือกร้อยให้กระดาษและปกติดกัน แบบนี้เมื่อเปิดอ่านหนังสือจะติดที่สัน ใช้กับร้านหนังสือได้ไม่นาน ไม่ดี
  3. ไสกาว นำหนังสือทั้งเล่มไปเข้าเครื่องไสกาว จะฝังกาวลงในร่อง แล้วก็เอาปกไปหุ้ม แบบนี้เหมาะสำหรับหนังสือ Pocket Book หนังสือฉาบฉวย เพราะสามารถเปิดอ่านได้เต็มที่ แต่มากเกินไปจะขาด หลุดออกมาเป็นแผ่นๆได้
  4. เย็บกี่ คือ เย็บด้วยด้ายเป็นยกๆ ยก(กี่)หนึ่งราคา 25 สตางค์ แบบนี้สามารถเปิดหนังสืออ่านได้เต็มที่ เหมาะสำหรับหนังสือที่ใช้นานๆ มีลักษณะคงทน แต่ราคาแพง
  5. เย็บกี่และปกแข็ง เป็น การเข้าเล่มที่ดีที่สุด โดยเย็บกี่ข้างในแล้วทำปกแข็งด้วย เหมาะสำหรับหนังสือที่เราต้องการเก็บไว้ใช้เป็นระยะเวลานานๆ หนังสือที่มีค่า แต่ราคาก็แพงตามคุณภาพ มีแบบสันโค้งและสันตรง สันโค้งแพงกว่าสันตรง 2 บาท สันโค้ง สันโค้งจะเหมาะสำหรับหนังสือหนาๆ ถ้าทำออกมาจะสวยมาก

นอกจากนั้น เราก็ควรจะทราบด้วยว่า เมื่อหนังสือส่งไปที่โรงพิมพ์แล้ว จะต้องห่อแบบไหน การบรรจุหีบห่อส่งมาให้สำนักพิมพ์มีความหมายพอสมควร โดยปกติโรงพิมพ์จะบรรจุหีบห่อให้เราหลายลักษณะ

1.ใช้เศษกระดาษที่เปื้อนไปแล้ว 1 หน้า มาห่อหนังสือให้เรา ซึ่งแบบนี้เหมาะสำหรับหนังสือที่ขายเร็ว

2. ใช้กระดาษสีน้ำตาลห่อ เหมาะสำหรับหนังสือที่ขายช้า ช่วยป้องกันแสงไม่ให้ความร้อนซึมเข้าไปถึงปกได้ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ปกฉีกได้ โดยมักเก็บหนังสือที่ขายช้าไว้ในโกดัง

3. ใส่ลัง ดีที่สุดเพราะมีความแน่นหนา ทางโรงพิมพ์จะคิดค่าลัง ลังละ 10 -15 บาท โดยบรรณาธิการต้องเป็นผู้กำหนดว่าต้องใช้ลังที่มีความกว้าง ยาว หนาเท่าไร ให้พอดีกับจำนวนหนังสือเพราะถ้ามีเนื้อที่ในลังเหลือเยอะ จะทำให้หนังสือโดนอากาศ เปื่อยง่าย


สรุปคือ บรรณาธิการเป็นผู้วิเศษ สามารถเนรมิตได้ทุกอย่าง !
ผู้ที่ทำหน้าที่พิสูจน์อักษร คือ บรรณาธิการ หรือ เราจะจ้างคนมาทำหน้าที่นี้ต่างหากก็ได้ โดยนำเรื่องของนักเขียนมาตรวจ ดูตัวสะกดที่ถูกต้องตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน อย่ายึดตามคำนิยม เพราะล้าสมัยได้ แต่ในพจนานุกรมเป็นบรรทัดฐานที่ใช้กันทุกยุคสมัย ผม จะเล่าให้ฟังว่าผมเคยจ้างพนักงานคนหนึ่งมาทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ โดยให้เงินเดือนหลายหมื่น แต่มีข้อแม้ว่าถ้าตรวจผิดจะโดนตัดเงินเดือน ปรากฏว่า พนักงานคนนี้พิสูจน์อักษรได้อย่างละเอียดมาก เขาสามารถท่องจำคำยากง่ายได้ตลอด ในร้านของผมมีพนักงานอยู่ 2 คนที่มีความจำดีมาก คนหนึ่งสามารถจำตัวสะกดได้แทบทุกตัว อีกคนหนึ่งจำรหัสไปรษณีย์ได้ทั่วประเทศ หน้าที่พิสูจน์อักษรมิได้ด้อยไปกว่าคนอื่นๆในกองบรรณาธิการ เราต้องอาศัยผู้ที่มีความแม่นเรื่องคำ ต้องมีความอดทนสูงเพราะต้องใช้สายตามาก ถ้าหนังสือเล่มนั้นๆไม่มีคำผิดเลย จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสำนักพิมพ์

เพลท
เพลทที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน มี 2 แบบ เราจำเป็นต้องรู้จักทั้ง 2 แบบ เพื่อจะได้สั่งงานได้ถูกต้อง ประหยัดทั้งเงินและเวลา

1.เพลทกลับในตัว เหมาะสำหรับงานที่ยกหนึ่งมีหลายหน้า เช่น 16 หน้ายก สมมุติว่าจะพิมพ์งาน 1,000 ชุด ก็ใช้เพลทกลับในตัว พิมพ์กระดาษไป 500 แผ่น รอจนหมึกพิมพ์แห้ง จึงกลับกระดาษเพื่อพิมพ์ด้านหลัง โดยใช้เพลทเดิม (ยังไม่ต้องถอดออกจากแท่นพิมพ์) พิมพ์ไปจนหมดกระดาษก็จะได้ 1,000 ชุด การ พิมพ์ด้วยเพลทชนิดนี้ จะต้องรอให้หมึกพิมพ์แห้งจึงกลับกระดาษพิมพ์ต่อได้ ทำให้เสียเวลา เวลาจะพับเก็บเล่ม ก็จะต้องนำกระดาษที่พิมพ์แล้วมาตัดเป็น 2 กอง

2. เพลทกลับนอก เหมาะสำหรับหนังสือที่มีหน้าน้อย พิมพ์หน้าหนึ่งได้ 1 ยก อีกหน้าก็อีก 1 ยก พับทีเดียวได้ 2 ยกเลย เร็วกว่า ยกหนึ่งมี 2 ชุด ยก1 พับ1 คือ ยกที่1 แผ่นที่1 ยก1 พับ2 คือ ยกที่1 แผ่นที่2 เวลาไปพิมพ์ เขาจะไล่พิมพ์ 1/1 ไป 1/2แต่บางทีอาจจะ 1/2 แล้วก็ค่อยมา 1/1 จะผ่าเหล่าก็ได้ แต่จริงๆควรจะพิมพ์ไปตามลำดับ
เรื่องเพลท ก็คือ แม่พิมพ์ แม่พิมพ์ที่ใช้พิมพ์ในปัจจุบันมีอยู่หลายระบบ แต่ระบบที่เรานิยมกันมากคือ Offset หรือ แม่พิมพ์เรียบ ระบบนี้ทำให้งานเสร็จเร็วขึ้น ภาพประกอบจะสมจริง 90% (เมื่อก่อนใช้ระบบ Letterpress หรือตะกั่ว หรือแม่พิมพ์นูน แต่มักมีปัญหากับการที่สระข้างล่างชอบหาย )

อีกระบบหนึ่ง ผมคิดว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้า คงแพร่หลายมากขึ้นในประเทศเรา คือ แม่พิมพ์ร่อง ใช้ การแกะแม่พิมพ์เป็นร่อง โดยถ่ายสิ่งที่เราต้องการพิมพ์ลงบนลูกกลิ้ง แล้วนำมากดด้วยการฉายแสง แสงจะไปกัดลอกแม่พิมพ์ เมื่อเราเอาแม่พิมพ์ไปเข้าเครื่องพิมพ์และนำหมึกไปทา หมึกก็จะไปขังอยู่ในร่อง ระบบนี้ใช้กับการพิมพ์หนังสือจำนวนมากๆ เช่น หนังสือ playboy ลงทุนไม่แพง บ้านเราที่ใช้กันจะใช้ในโรงพิมพ์ธนบัตรไทยเป็นส่วนมาก

นอกจากนั้น แม่พิมพ์ตะแกรง หรือ Silkscreen ระบบนี้นิยมน้อย ใช้กับงานฝีมือเล็กๆน้อย แต่ก็สามารถนำมาทำเป็นงานใหญ่ได้เช่นกัน การจ้างพิมพ์ สำนักพิมพ์ไม่ควรจ้างโรงพิมพ์แห่งเดียว ควรจ้างอย่างน้อย 2 แห่งขึ้นไป เพื่อเป็นทางหนีทีไล่ เป็นข้อเปรียบเทียบ ต่อรองราคากัน ใน ทัศนคติของผม คนทำหนังสือเป็นคนที่โชคดีนะครับ เราไม่เคยแก่ เพราะงานของเราจะเปลี่ยนทุกเดือน ได้ทำงานใหม่ทุกเดือน หนังสือเล่มหนึ่งเสร็จไปแล้ว เล่มใหม่ก็มาอีก เราก็ได้ชื่นใจกับเล่มใหม่อีกแล้ว เราเขียนเรื่อง ทำรูปเอง ยิ่งชื่นใจใหญ่ คนที่เป็นนายทุนถ้าหนังสือเล่มนั้นขายดีระเบิดเถิดเทิง ก็จะยิ่งชื่นใจมากขึ้น ผมอยากจะเชิญชวนให้ทุกท่านมาเปิดสำนักพิมพ์กันเถอะครับ รวยแน่ แต่ท่านต้องสายป่านยาว และต้องอาศัยระยะเวลาพอสมควร ท่านจะรวยภายใน 5 ปีไม่ได้หรอกครับ ต้องสัก 20 ปี สะสมกำไรไปเรื่อยๆ ตอนผมเปิดสำนักพิมพ์ใหม่ๆ ผมมีทรัพย์สมบัติอยู่ 7,000 บาท ผมออกจากไทยวัฒนาพานิชมาทำกับภรรยา 2 คน ผมทำหนังสือวิทยาศาสตร์เอง ส่วนภรรยาผมทำหนังสือภาษาไทย ช่วยกันทำ ไม่ต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น